กระรอกบิน เป็นกระรอกจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในเผ่า Pteromyini หรือ Petauristini มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากกระรอกจำพวกอื่น คือ มีแผ่นหนังลักษณะคล้ายพังผืดที่บริเวณข้างลำตัวตั้งแต่ขาหน้าถึงขาหลัง สำหรับกางเพื่อร่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยมีหางและกระดูกอ่อนพิเศษที่ยื่นออกมาจากข้อเท้าหน้าเพื่อช่วยในการควบคุมทิศทาง
กระรอกบินมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากกระรอกในกลุ่มอื่น คือ หากินในเวลากลางคืน มีดวงตากลมโตสีดำสะท้อนแสงไฟ กระรอกบินจะอาศัยอยู่เฉพาะในป่าดิบที่อุดมสมบูรณ์ อาหารหลัก คือ แมลง หากินหลักอยู่บนต้นไม้ แต่ก็สามารถลงมาหากินบนพื้นดินได้ในบางครั้ง แม้จะได้ชื่อว่า กระรอกบิน แต่แท้ที่จริงแล้วกระรอกบินก็ทำได้เพื่อแค่ร่อน หรือโต้อากาศโดยใช้พังผืดนี้อยู่กลางอากาศได้เพียงสั้น ๆ เท่านั้น โดยการกระโจนจากต้นไม้อีกต้นไปยังอีกต้นหนึ่งเท่านั้น
กระรอกบินมีทั้งหมด 44 ชนิด ใน 15 สกุล พบได้ในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรปตอนเหนือและทวีปเอเชีย บางชนิดจัดเป็นกระรอกขนาดใหญ่เทียบเท่าพญากระรอก เช่น พญากระรอกบินสีดำ (Aeromys tephomelas) บางชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์แล้ว เช่น กระรอกบินเล็กแก้มขาว (Hylopetes phayrei) เป็นต้น ในประเทศไทยพบทั้งหมด 13 ชนิด จาก 6 สกุล ได้แก่
พญากระรอกบินสีดำ (Aeromys tephomelas)
กระรอกบินเท้าขน (Belomys pearsoni)
กระรอกบินเล็กเขาสูง (Hylopetes alboniger)
กระรอกบินเล็กแก้มขาว (Hylopetes phayrei)
กระรอกบินแก้มเทา (Hylopetes lepidus)
กระรอกบินแก้มสีแดง (Hylopetes spadiceus)
พญากระรอกบินหูดำ (Petaurista elegans)
พญากระรอกบินหูแดง (Petaurista petaurista)
พญากระรอกบินหูขาว (Petaurista alborufus)
พญากระรอกบินหูดำหางเข้ม (Petaurista philippensis)
กระรอกบินจิ๋วท้องขาว (Petinomys setosus)
กระรอกบินจิ๋วมลายู (Petinomys vordermanni)
กระรอกบินสีเขม่า (Pteromyscus pulverulentus)
นอกจากนี้แล้ว ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกอื่น ที่มีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายคลึงกระรอกบินมาก ได้แก่ บ่าง (Galeopterus variegatus) ที่อยู่ในอันดับบ่าง และจิงโจ้บิน หรือ ชูการ์ไกล์เดอร์ (Petaurus breviceps) ซึ่งอยู่ในอันดับสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง ซึ่งสัตว์ทั้ง 2 จำพวกนี้มิใช่สัตว์ในอันดับสัตว์ฟันแทะอย่างกระรอก แม้จะมีรูปหน้าหน้าตาและพฤติกรรมคล้ายกับกระรอกบินก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังมีผู้เข้าใจผิดเสมอ ๆ ว่า สัตว์ทั้ง 2 จำพวกนี้เป็นกระรอกบิน อีกทั้งในภาษาเหนือและภาษาอีสานของไทย ก็ยังเรียกกระรอกบินขนาดใหญ่ ว่า บ่าง ด้วยเช่นกัน